Home » » `ป่วยไข้` แค่ไหนตัองพบแพทย์

`ป่วยไข้` แค่ไหนตัองพบแพทย์

Written By โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านคลองน้อย on วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 | 20:10

/data/content/25056/cms/e_aefijklny259.jpg
           “ไข้” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าเศรษฐี หรือคนทำงานหาเช้ากินค่ำ เวลามีผู้ป่วยมาตรวจรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์พยาบาลมักจะเรียกว่า “คนไข้”แสดงว่าไข้น่าจะเป็นอาการที่พบบ่อยจนกลายเป็นคำพูด ติดปาก
          “ไข้” เกิดจากการที่ร่างกายพยายามปรับสมดุล เนื่องจากมีการอักเสบเกิดขึ้น ทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงานสูงขึ้น (มีผลให้อุณหภูมิสูง) รวมทั้งมีการระบายความร้อนออกด้วยการขับเหงื่อเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายลง ส่วนใหญ่มักจะถือว่า มีไข้ ถ้าวัดอุณหภูมิทางปากได้มากกว่า 38.3 องศาเซลเซียส ไข้แบ่งได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามระยะเวลาที่มีอาการ คือ ไข้เฉียบพลัน ซึ่งมักจะมีอาการมาไม่เกิน 7 วัน หรือ ไข้เรื้อรัง คือเป็นไข้มาแล้วอย่างน้อย 3 สัปดาห์ แต่ถ้าอยู่ในระหว่าง 7-21 วันมักจะเรียกว่า ไข้กึ่งเฉียบพลัน หรืออาจจะแบ่งตามสาเหตุ อวัยวะที่มีอาการก็ได้ การแบ่งระยะเวลาของไข้อาจจะบอกถึงกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุได้
          สาเหตุของไข้ เกิดจากทั้งโรคติดเชื้อ และโรคไม่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม โรคติดเชื้อเป็นสาเหตุที่สำคัญของไข้ โดยเฉพาะไข้เฉียบพลัน ถือเป็นร้อยละ 80 ขึ้นไป ในขณะที่ไข้เรื้อรังอาจเกิดจากโรคไม่ติดเชื้อ ร้อยละ 30-40 โรคไม่ติดเชื้อที่สำคัญที่เป็นสาเหตุของไข้ ได้แก่ โรคภูมิแพ้ตนเอง โรครูมาตอยด์ โรคคอพอกเป็นพิษ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่พบบ่อยๆ เท่านั้น จริงๆ แล้วยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกมากมาย
/data/content/25056/cms/e_cdefgmpx2567.jpg
          โรคติดเชื้อ เป็นสาเหตุสำคัญ ทั้งไข้เฉียบพลัน และไข้เรื้อรัง เชื้อโรคที่ทำให้เกิดไข้ อาจเป็นได้ทั้ง เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อวัณโรค เชื้อรา เชื้อพยาธิ อย่างไรก็ตาม เชื้อโรคเหล่านี้บางอย่างเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของไข้เฉียบพลัน เช่น แบคทีเรีย ไวรัส แต่บางอย่างเป็นสาเหตุที่พบบ่อยชองไข้เรื้อรัง ได้แก่ วัณโรค เป็นต้น
          แม้กระทั่งในแต่ละกลุ่มเชื้อโรคเองบางชนิดก็ทำให้เกิดไข้เฉียบพลัน บางชนิดก็ทำให้เกิดไข้เรื้อรังได้ หรือเกิดได้ทั้ง 2 แบบ ความรุนแรงของอาการก็แตกต่างกันได้ในแต่ละคน แม้จะเกิดจากการติดเชื้อชนิดเดียวกันก็ตาม เช่น ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสไข้เลือดออกส่วนใหญ่ จะหายเอง แต่บางรายอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้
          คนที่มีไข้จะรู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ไม่อยากไปทำงาน อยากจะพักผ่อน ซึ่งเป็นกลไกปกติของร่างกายในการปรับสมดุล นอกจากนั้นยังมีอาการตามอวัยวะที่มีการอักเสบเกิดขึ้น มีสารคัดหลั่งของระบบนั้นๆ ออกมามากขึ้น เช่น ถ้ามีการอักเสบที่ปอด ก็จะไอ มีเสมหะ ถ้าอักเสบที่ข้อก็จะปวดข้อ ข้อบวมเนื่องจากมีน้ำในข้อเพิ่มขึ้น เป็นต้น สารคัดหลั่งอาจมีลักษณะเป็นสีเหลืองข้น หรือเป็นหนองได้ ถ้ามีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว และเนื้อเยื่อที่ตายมาสะสมจำนวนมากในสารคัดหลั่งนั้น เช่น น้ำมูกเหลืองข้น ฝี โดยทั่วไป เมื่อมีไข้ก็ต้องกินยาลดไข้ก่อนเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการปฐมพยาบาลขั้นต้น และยาลดไข้สามารถซื้อหาได้ง่ายจากร้านขายยาทั่วไป นอกจากนั้นผู้ที่มีไข้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อชดเชยการการสูญเสียเหงื่อจากการระบายความร้อน
          ไข้จะหายไปเมื่อร่างกายควบคุม หรือกำจัดสาเหตุของไข้ออกจากร่างกายไปได้ ดังนั้นการที่ไข้จะหายเร็วแค่ไหน ขึ้นกับปัจจัยใหญ่ๆ 3 ประการคือ ภูมิต้านทานของคนคนนั้น สาเหตุของไข้ และการรักษาจำเพาะที่ต้นเหตุ เนื่องจากไข้เฉียบพลันส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ และมักจะหายเองได้ใน 3-7วัน ดังนั้นการดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้นดังกล่าวก็เพียงพอ อาจไม่ต้องมาพบแพทย์ ถ้ามียารักษาอาการร่วมต่างๆ อยู่แล้ว
/data/content/25056/cms/e_eilnpqtvx348.jpg
          อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาเพิ่มเติมเนื่องจากไข้ที่มีอาจไม่ใช่ไข้จากโรคติดเชื้อ หรือเป็นไข้จากโรคติดเชื้อที่ต้องได้รับการรักษาจำเพาะ หรือเป็นโรคติดเชื้อที่อาการอาจจะทวีความรุนแรง จนอาจเกิดการติดเชื้อหรือลุกลามไปยังระบบอื่นๆ จนอาจถึงแกชีวิตได้ การกินยาลดไข้โดยเฉพาะยาพารา เซ็ตตามอลเป็นจำนวนมากหลายวันติดต่อกันอาจมีพิษต่อตับ ทำให้ตับวายจนถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
          ผู้ป่วยที่ควรจะมาพบแพทย์ เมื่อมีไข้แต่เนิ่นๆ มีดังต่อไปนี้
          1. เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ เมื่อมีการติดเชื้ออาจเกิดการลุกลามได้รุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้น
          2. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่มีการทำงานของอวัยวะในร่างกายบกพร่องอยู่เดิม ซึ่งเมื่อมีไข้สูงอยู่นานอาจทำให้ร่างกายทนไม่ไหว ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่ยังควบคุมไม่ได้ดี โรคตับแข็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อายุมาก หรือเด็กแรกคลอด เป็นต้น
          3. ผู้ป่วยที่มีไข้ ร่วมกับอาการอื่นๆ ที่มีความรุนแรงขึ้น จนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ไอมากขึ้น ท้องเสียมากขึ้น ปัสสาวะขัดขุ่นมากขึ้น ทั้งๆ ที่ได้รับการักษาตามอาการเต็มที่แล้ว
          4. มีอาการผิดปกติหลายๆ ระบบร่วมกัน เช่น มีดีซ่านร่วมกับจุดเลือดออก หอบเหนื่อย หรือมีความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
          5. มีการระบาดของโรคติดเชื้อในชุมชนที่พักอาศัย ซึ่งบางอย่างอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ในบางช่วงอายุ ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่
          6. มีประวัติสัมผัสโรคบางอย่างที่มีการรักษาจำเพาะ เช่น ไข้มาลาเรีย ไข้สุกใส
          7. ไข้เรื้อรัง กินยาลดไข้อย่างเดียว ไม่หาย หรือนานกว่าที่คาดหมาย อาจจะเกิดจากโรคติดเชื้อเรื้อรัง หรือจาก โรคไม่ติดเชื้อ ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
          8. ไม่แน่ใจว่าไข้เกิดจากสาเหตุใด จะมีอาการรุนแรงหรือไม่ ก็ควรจะมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
/data/content/25056/cms/e_dfijlmnoqrs5.jpg
          แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณที่ผู้ป่วยมีอาการเด่นชัด มีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุ และประเมินความรุนแรงของอาการและสาเหตุ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่ได้จากประวัติและการตรวจร่างกาย
          ในกรณีที่สามารถวินิจฉัยสาเหตุของไข้ว่าอาการไม่รุนแรง หรือแพทย์คิดว่าการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่ช่วยในการวินิจฉัยในขณะนั้น แพทย์จะสั่งการรักษาได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือมีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรง แพทย์อาจรักษาไปก่อนด้วยยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอันตราย ยาปฏิชีวนะจะได้ประโยชน์เฉพาะไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น
          กรณีที่ไข้เกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อก็ต้องใช้ยารักษาสาเหตุอื่นๆ เช่น ไข้จากคอพอกเป็นพิษ ก็ต้องรักษาด้วยยาลดการทำงานของไธรอยด์ ไข้จากโรค แพ้ภูมิคุ้มกันตนเองก็ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ยังมีความสับสนระหว่างยาแก้อักเสบกับยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ หมายถึงยาที่ไปลดการอักเสบในร่างกาย แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ ส่วนยาปฏิชีวนะ หมายถึงยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่รวมถึงยาฆ่าเชื้อไวรัส หรือเชื้อพยาธิ ยาปฏิชีวนะมักจะลดการอักเสบลงได้ ถ้าเชื้อก่อโรคนั้นทำให้เกิดการอักเสบแต่ไม่ได้ลดการอักเสบโดยตรง
/data/content/25056/cms/e_abfgjlmpv125.jpg
          อย่างไรก็ตามโรคติดเชื้อไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเสมอไป เนื่องจากร่างกายสามารถกำจัดเชื้อโรคหลายชนิดออกจากร่างกายได้เอง เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสที่ก่ออาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบนในผู้ใหญ่ เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ โรคติดเชื้อบางอย่างก็ไม่มียารักษาจำเพาะ เช่น ไข้เลือดออก การรักษาตามอาการ เช่นกินยาลดน้ำมูก แก้ไอ ระยะเวลาหนึ่ง อาการต่างๆ ก็จะหายไปได้เอง
          นอกจากนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียในร่างกายดื้อยาสะสม และทำให้ใช้ยาดังกล่าวไม่ได้เมื่อจำเป็นต้องใช้ และอาจจะเกิดการแพ้ยาได้
          ดังนั้น การกินยาลดไข้ ร่วมกับยาบรรเทาอาการอื่นๆ อาจเพียงพอในโรคติดเชื้อหลายๆ ชนิดโดยเฉพาะโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนซึ่งมักเกิดจากเชื้อไวรัส และถ้าเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ ส่วนใหญ่จะเวลาประมาณ 3-7 วัน ไข้จะค่อยๆ ลดลงและหายไปในที่สุด ในขณะที่ผู้ป่วยซึ่งมีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิต้านทานลดลง มีอาการรุนแรงของอวัยวะที่มีการอักเสบเช่น ไอมากจนหายใจลำบาก ท้องเสียถ่ายมากจนไม่มีแรง หรือในช่วงที่มีการระบาดของโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ควรจะมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ประเมิน และรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อความปลอดภัยในระยะยาว


          ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ โดย ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Share this article :

แสดงความคิดเห็น