Home » » ความฉลาดมีหลายด้าน

ความฉลาดมีหลายด้าน

Written By โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านคลองน้อย on วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557 | 01:45

ด็กแต่ละคนมีความถนัดต่างกัน พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้หลาย ๆ ด้าน และส่งเสริมให้เกิดเป็นความสามารถติดตัว ไม่ควรเน้นเรื่องผลสำเร็จมากกว่าความสุขและทักษะในการเรียนรู้ที่มากขึ้น



          เด็กแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกันไป โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ ผู้บุกเบิกทฤษฎีพหุปัญญา บอกว่า เชาวน์ปัญญาหรือความฉลาดของคนมีหลายด้าน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความฉลาดแคบ ๆ อย่างที่คิดและเชื่อกันมา 2 ด้าน คือ ความฉลาดทางด้านภาษา และความฉลาดทางด้านคณิตศาสตร์
          ในปี ค.ศ.1983 เขาได้เขียนหนังสือชื่อ “Frames of Mind: The Theory of Multiple Intelligences” หรือทฤษฎีพหุปัญญา นำเสนอความคิดว่า แต่ละคนมีเชาวน์ปัญญา 8 ด้านติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด มาก-น้อยไม่เท่ากัน แต่ถ้าได้รับการเลี้ยงดูส่งเสริมอย่างถูกต้องและหลากหลายก็จะสามารถพัฒนา
       ความฉลาดในแต่ละด้านได้ ทั้ง 8 ด้านประกอบด้วย
  1.  เชาวน์ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence) มีความสามารถในการใช้ภาษา ทั้งการอ่าน การเขียน การพูด
  2.  เชาวน์ปัญญาด้านคณิตศาสตร์หรือการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ (Logical Mathematical Intelligence) มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ การคิด วิเคราะห์ เป็นเหตุเป็นผล
  3.  สติปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Intelligence) มีความสามารถด้านศิลปะ การคิดเป็นภาพ การเห็นรายละเอียด การใช้สี การสร้างสรรค์งานต่าง ๆ
  4.  เชาวน์ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence) จะมีความสามารถด้านดนตรี เสียง จังหวะ การร้องเพลง
  5.  เชาวน์ปัญญาด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและกล้ามเนื้อ (Bodily-Kinesthetic Intelligence) มีความสามารถด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย การกีฬา การแสดง การเต้นรำ
  6.  เชาวน์ปัญญาด้านการสัมพันธ์กับผู้อื่น (Interpersonal Intelligence) มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีศิลปะในการจัดการปัญหาและเข้าใจผู้อื่น
  7.  เชาวน์ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence) เข้าใจความรู้สึกและพฤติกรรมตนเอง
  8.  เชาวน์ปัญญาด้านความเข้าใจธรรมชาติ (Naturalist Intelligence) มีความสามารถด้านธรรมชาติ รักสิ่งแวดล้อมรอบตัว สนใจสัตว์ และชอบเลี้ยงสัตว์
           แนวคิดของการ์ดเนอร์ช่วยเปิดให้เราเห็นและเข้าใจอัจฉริยภาพของมนุษย์ใน มุมมองที่กว้างขวางมากขึ้นจากเดิม เด็กที่มีแววความถนัดด้านดนตรี ศิลปะ ธรรมชาติ กีฬา รู้จักและเข้าใจตนเอง และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีก็เป็นความฉลาดที่ทัดเทียมกัน การจัดการศึกษาสำหรับเด็ก จึงควรให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อพัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและซีก ขวาให้ทำงานสมดุล ช่วยในการพัฒนาเชาวน์ปัญญาของเด็กอย่างรอบด้าน ส่งเสริมความสามารถเฉพาะตัวเด็ก จึงจะพัฒนาตนเองได้อย่างฉลาด มีความสุข มีความภูมิใจ และเห็นคุณค่าในตนเอง
          สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
          -     พ่อแม่ควรยอมรับว่าเด็กแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน บางคนถนัดบางด้าน บางคนถนัดหลายด้าน บางคนไม่ถนัดอะไรเลยแต่ก็ยังเป็นเด็กดี ช่วยเหลือทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้ พ่อแม่ช่วยเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ช่วยส่งเสริมความถนัดในเด็ก หรือการเรียนรู้ที่หลากหลายที่ช่วยส่งเสริมเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเด็กจะช่วย ให้เด็กรู้สึกดีต่อตัวเองและมีความสุขในการเรียน
          -    ความเก่งมีหลายด้าน เช่น การเรียน กีฬา สังคม ดนตรี ศิลปะ การเดินทาง การใช้ภาษา การแก้ปัญหา การดูแลต้นไม้ การเลี้ยงสัตว์ การทำอาหาร/ขนม การเย็บปักถักร้อย การใช้ความคิด ฯลฯ พ่อแม่ที่สายตากว้างไกล จึงไม่ควรส่งเสริมความสามารถในด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว
          -    เมื่อมีคนได้ที่ 1 ก็ต้องมีคนได้ที่โหล่เช่นกัน เป็นไปไม่ได้ที่เด็กจะสอบได้อันดับดี ๆ ทุกครั้ง ควรฝึกเด็กให้เรียนรู้การทำใจกับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และสามารถหาแนวทางในการพัฒนาตนเอง เพื่อป้องกันมิให้พบกับความผิดหวังแบบเดิม
          -    เมื่อเผชิญกับความผิดหวัง ระยะแรกเด็กต้องการความรัก ความเข้าใจ คนช่วยเกื้อหนุน คนร่วมคิดเพื่อแก้ไขปัญหาและหาทางออก ฝึกฝนในลักษณะนี้บ่อย ๆ สุดท้ายเด็กก็สามารถเผชิญกับความผิดหวังและแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง
          -    การฝึกให้เด็กหัดคิดแนวทางการแก้ปัญหาหลาย ๆ แนวทาง หลาย ๆ รูปแบบ ฝึกหัดทำงานหลาย ๆ ประเภท จะช่วยให้เด็กสามารถเผชิญกับปัญหาในชีวิตได้ โดยใช้ทางออกที่เหมาะสม
          -    การพูดคุยเพื่อถามความต้องการที่แท้จริงในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น เวลาเสียใจ ผิดหวัง สอบตก ทำผิด ทำแก้วแตก ลืมทำงานที่พ่อแม่สั่ง เวลาที่ทำผิดกติกา เป็นต้น จะช่วยทำให้พ่อแม่เข้าใจความต้องการและตอบสนองได้ตรงและเหมาะสม
          หัวใจการเลี้ยงดู-เด็กแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน พ่อแม่จึงควรส่งเสริมให้ลูกได้พัฒนาความถนัดของตน
         (คัดย่อข้อมูลมาจากหนังสือคู่มือการใช้สื่อเสียง ชุด “พ่อแม่เลี้ยงบวก” เนื้อหาวิชาการโดย ศ.คลินิก(พิเศษ) พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ และ ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข) นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

อ้างอิง : http://www.thaihealth.or.th/
Share this article :

แสดงความคิดเห็น