Home » » การปฐมพยาบาลเบื้องต้นไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

Written By โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านคลองน้อย on วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555 | 08:24


บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยมากมักจะมีสาเหตุจากอุบัติเหตุ ความประมาท ขาดความระมัดระวัง ซึ่งกลไกการบาดเจ็บจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใดขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลาที่ผิวหนังสัมผัสกับความร้อน อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ ดีกรีความลึกของบาดแผล และขนาดความกว้างพื้นที่ของบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกนั้น ๆ
บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แบ่งเป็น ระดับ โดยดูจากดีกรีความลึกของบาดแผล
           ดีกรีความลึกระดับ 1 คือ บาดแผลอยู่แค่เพียงผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น โดยปกติจะหายเร็วและไม่เกิดแผลเป็น
           ดีกรีความลึกระดับ 2 คือ บาดเจ็บในบริเวณชั้นหนังแท้ บาดแผลประเภทนี้ถ้าไม่มีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน มักจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความลึกของบาดแผลจากอุบัติเหตุไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดร่องรอยผิดปกติของบริเวณผิวหนัง หรืออาจมีโอกาสเกิดแผลเป็นแผลหดรั้งตามได้ หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง
 *กรณีถูกไฟไหม้ หากบาดเจ็บไม่ลึกมากก็จะพบว่าบริเวณผิวหนังจะมีตุ่มพองใส เมื่อตุ่มพองนี้แตกออกบริเวณบาดแผลเบื้องล่างจะเป็นสีชมพู และผู้ป่วยจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนมาก แต่ถ้าพยาธิสภาพค่อนข้างลึกจะพบว่าสีผิวหนังจะเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือขาว ไม่ค่อยเจ็บ
           ดีกรีความลึกระดับ 3 คือ ชั้นผิวหนังทั้งหมดถูกทำลายด้วยความร้อน บาดแผลเหล่านี้มักจะไม่หายเอง มีแนวโน้มการติดเชื้อของบาดแผลสูง และมีโอกาสเกิดแผลหดรั้งตามมาสูงมาก ถ้าได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง
สิ่งแรกที่ควรทำ เมื่อโดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
     - ล้างด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติ ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลช่วยลดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณบาดแผลได้
     - หลังจากนั้นซับด้วยผ้าแห้งสะอาด แล้วสังเกตว่าถ้าผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใส หรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ควรรีบไปพบแพทย์
   * แต่ถ้าไฟไหม้ น้ำร้อนลวกบริเวณใบหน้า จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะบริเวณใบหน้ามักจะเกิดอาการระคายเคืองจากยาที่ใช้ ห้ามใส่ยาใด ๆ ก่อนถึงมือแพทย์ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการตอบสนองต่อตัวยาไม่เหมือนกัน จะต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

ข้อห้าม เมื่อโดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
      - ไม่ควรใส่ตัวยา/สารใด ๆ ทาลงบนบาดแผล ถ้าไม่แน่ใจในสรรพคุณที่ถูกต้องของยาชนิดนั้น โดยเฉพาะยาสีฟัน” “น้ำปลา” เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล เพิ่มโอกาสการเกิดบาดแผลติดเชื้อ และทำให้รักษาได้ยากขึ้น

โดยการรักษาเริ่มตั้งแต่...
      - การใช้ยาทาในระยะเริ่มต้น
      - การใส่ชุดผ้ารัดในกรณีที่รอยแผลจากไฟไหม้น้ำร้อนลวกมีแนวโน้มที่จะนูนมากขึ้น และไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาทา
      - ฉีดยาลบรอยแผลเป็น ซึ่งจะทำได้ในกรณีที่เกิดรอยแผลนูนและไม่ตอบสนองต่อการใส่ชุดผ้ารัด
      - ผ่าตัดแก้ไข โดยแพทย์จะต้องทำการประเมินลักษณะและความรุนแรงของบาดแผล ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของบาดแผลหดรั้งเหล่านั้น....
โดยทั่วไปช่วงอายุของผู้ป่วยไม่เป็นอุปสรรคในการรักษาบาดแผล และวิทยาการการรักษา ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก
เมื่อผ่านขั้นตอนการรักษาแล้ว อย่าละเลยที่จะดูแลตนเอง โดย....
     1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นผล หรืออะไรก็ตามที่จะทำให้ระคายเคือง
     2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ทุกชนิด เพราะหากโดนบริเวณแผล ก็อาจทำให้คันหรือมีการติดเชื้อได้ง่าย
     3. รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ เพื่อเสริมการสร้างเนื้อเยื่อใหม่บริเวณบาดแผลให้บาดแผลสมานปิดเร็วขึ้น
     4. หมั่นทายา/รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญต้องรักษาความสะอาดแผลให้ดี
      อุบัติเหตุไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากความประมาทแทบทั้งสิ้น ถ้าต้องทำอาหารและอาจต้องสัมผัสของร้อน ควรระมัดระวังและป้องกันตนเองให้ดี ในบ้านที่มีเด็กเล็กควรระมัดระวังและจัดหาสถานที่ ๆ วางวัสดุที่มีความร้อนให้เหมาะสมให้ห่างจากมือเด็กเอื้อมถึงได้ ส่วนบุคลากรที่ต้องทำงานกับเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องทำความร้อนต่าง ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสกับเปลวไฟหรือเปลวเพลิงสูง ควรมีการป้องกันตนเองให้เหมาะสมด้วย เพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติภัยไฟไหม้ น้ำร้อนลวกนี้ครับ.



การรักษา
สำหรับการรักษา ในสถานพยาบาล โดยแพทย์หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาจกระทำ ดังนี้
ก. ถ้าเป็นเพียงบาดแผลดีกรีที่ 1ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วทาด้วย ครีมสเตอรอยด์   หรือเจลว่านหางจรเข้ขององค์การเภสัชกรรมบางๆหรือทาด้วยวาสลิน หรือน้ำมันมะกอก และให้ยาแก้ปวดถ้ารู้สึกปวด
ข. ถ้าเป็นบาดแผลดีกรีที่ 2 หรือ 3

1. 
ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ในกรณีต่อไปนี้
บาดแผลดีกรีที่ 3 มีขนาดมากกว่า 2 ฝ่ามือ (2%)
บาดแผลดีกรีที่ 2 มีขนาดมากว่า 10 ฝ่ามือ (10%) ในเด็ก หรือ 15 ฝ่ามือ (15%) ในผู้ใหญ่
บาดแผลที่ตา หู ใบหน้า มือ เท้า อวัยวะสืบพันธุ์ ตามข้อพับต่าง ๆ
บาดแผลในทารก เด็กเล็กและผู้สูงอายุ
สูดควันไฟเข้าไประหว่างเกิดเหตุ
มีภาวะช็อก ควรให้น้ำเกลือมาระหว่างทาง

2. 
ถ้าไม่มีอาการดังกล่าวในข้อ 1. อาจให้การรักษาโดย
2.1 
ชะล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่
2.2 
ถ้ามีตุ่มพองเล็ก ๆ เพียง 2-3 อัน เกิดที่ฝ่ามือ ไม่ควรใช้เข็มเจาะ ให้ทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น
โพวิโดนไอโอดีนหรือทิงเจอร์ใส่แผลสด (Merthiolate) แล้วปิดด้วยผ้ากอซ ตุ่มจะค่อย ๆ แห้งและหลุดล่อนไปเองใน 3-7 วัน
2.3 
ถ้ามีตุ่มพองที่แขนขา หลังมือ หลังเท้า หลังจากทำความสะอาดด้วยน้ำกับสบู่แล้ว ให้ใช้มีดหรือกรรไกรที่ทำให้ปราศจากเชื้อ (เช่น แช่ในแอลกอฮอล์แล้ว) เจาะเป็นรู    แล้วใช้ผ้ากอซที่ปราศจากเชื้อกดซับน้ำเหลืองให้แห้ง ใช้โพวิโดนไอโอดีนหรือทิงเจอร์ใส่แผลสดทา แล้วพันด้วยผ้ายืดให้ผิวที่พองกดแนบสนิท ภายใน 2-3 วัน หนังที่พองจะหลุดล่อน
2.4 
ถ้ามีตุ่มพองเป็นบริเวณกว้าง ให้ใช้กรรไกรที่ทำให้ปราศจากเชื้อขริบเอาหนังที่พองออก แล้วล้างด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วทาด้วย ครีมซัลฟาไมลอน (Sulfamylon), ขี้ผึ้งแบกตาซิน (Bactacin), น้ำยาโพวิโดนไอโอดีนครีมซิลเวอร์ซัลฟาไดอาซีน (Silver sulfadiazine)หรือ พ่นด้วยสเปรย์พรีเดกซ์ (Predex spray) ถ้าเป็นบริเวณแขนหรือขา ให้ใช้ผ้าพัน ถ้าเป็นที่หน้าหรือลำตัว ให้เปิดแผลไว้ ควรล้างแผลและใส่ยา วันละ 1-2 ครั้ง เมื่อดีขึ้นค่อยทำห่างขึ้น
2.5 
ควรให้ยาแก้ปวด   และฉีดยาป้องกันบาดทะยัก
2.6 
ถ้าบาดแผลไม่ดีขึ้น ใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการติดเชื้อ หรืออาการทั่วไปไม่ดี (เช่น มีไข้สูง
เบื่ออาหาร) ควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล ถ้าบาดแผลลึก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft)
ข้อแนะนำ
1. 
การปฐมพยาบาลบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ที่แนะนำในปัจจุบันคือ รีบใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ประคบทันทีหลังเกิดเหตุ อย่าใช้ยาสีฟัน น้ำปลา หรือยาหม่องทา
2. 
บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่เกิดในเด็กเล็ก และ ผู้สูงอายุ ถึงแม้จะมีขนาดไม่กว้างมาก แต่ก็อาจมีอันตรายมากกว่าที่พบในคนหนุ่มสาว    ดังนั้นจึงควรแนะนำไปรักษาที่โรงพยาบาลทุกราย
3. 
บาดแผลที่ข้อพับ อาจทำให้เกิดแผลเป็น ดึงรั้งข้อต่อให้คดงอ (เหยียดไม่ได้) สามารถป้องกัน  ได้โดยใช้เฝือกดามข้อในบริเวณนั้นตั้งแต่แรก
4. 
ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ ในระยะ 2-3 วันแรก คือ ภาวะขาดน้ำและช็อก    ถ้ามีบาดแผลกว้าง แพทย์จะให้น้ำเกลือชนิดริงเกอร์แล็กเทต (Ringer's lactate)  ในวันแรกอาจให้ขนาดมล. ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อเนื้อที่บาดแผล 1 เปอร์เซ็นต์ โดยให้ครึ่งหนึ่งใน 8ชั่วโมงแรก อีกครึ่งหนึ่ง ที่เหลือให้หมดใน 16 ชัวโมงต่อมา วันต่อมาอาจต้องให้น้ำเกลือ และพลาสมา  ส่วนการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นหลังจากมีบาดแผล 2-3 วันไปแล้ว (หรือหลัง 1สัปดาห์) ถ้าบาดแผลมีขนาดกว้างก็มีโอกาสติดเชื้อรุนแรง โดยทั่วไป ถือว่าบาดแผลดีกรีที่ที่มีขนาดมากกว่า 30% และบาดแผลดีกรีที่ 3 ที่มีขนาดมากกว่า 10% ถือเป็นบาดแผลรุนแรง รักษายากและมักจะมีอัตราตายสูง
5. 
ผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรกินอาหารโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่) ให้มาก ๆ เพราะร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนออกไปทางบาดแผล
6. 
ถ้ามีบาดแผลถูกกรดหรือด่าง ควรให้การปฐมพยาบาล โดยรีบชะล้างแผลด้วยน้ำก๊อก นานอย่างน้อย 5 นาที แล้วส่งโรงพยาบาล แพทย์อาจให้การรักษาแบบเดียวกับบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
การป้องกัน
ควรหาทางป้องกันบาดแผลไฟไหม้น้ำรอนลวก โดย
อย่าให้เด็กเล็กเล่นในห้องครัว
อย่าวางกาน้ำร้อน หม้อน้ำแกง กระติกน้ำร้อน ตะเกียง ไม้ขีดหรือวัตถุอื่น ๆ ที่มีความร้อนไว้ใกล้มือ   เด็ก
อย่าวางบุหรี่ ตะเกียง ใกล้ผ้าห่ม มุ้ง หรือสิ่งที่อาจติดไฟได้ง่าย


และ - อย่าประมาท จนเกิดอุบัติเหตุขึ้น อ้อ ข้อสำคัญ ระบบการป้องกัน และเคลื่อนย้ายหนีไฟ สำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ประกอบการทุกรายค่ะ




อ้างอิง
รศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน  ภาควิชาศัลยศาสตร์  Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อ้างถึงใน http://www.si.mahidol.ac.th 
Share this article :

แสดงความคิดเห็น