อภ.แนะวิธีรับประทานยาปฏิชีวนะ
นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยถึงวิธีการใช้ยาปฏิชีวนะว่า ยาปฏิชีวนะเป็นคำที่ใช้เรียกสารเคมีทางยาที่มีฤทธิ์ในการยับยั้ง หรือทำลายเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ยากลุ่มเพนิซิลิน แก้อักเสบหรือติดเชื้อ เมื่อได้ยาปฏิชีวนะแล้ว จะต้องทานยาทุกวันจนครบกำหนด แม้ว่าจะไม่มีอาการของโรคก็ตามซึ่งปัญหาจะเกิด เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจ เกี่ยวกับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ทำให้บางครั้งหยุดยาก่อนกำหนด หรือไม่กินตามเวลาที่แพทย์สั่ง หรือกินผิดวิธี ทำให้ปริมาณยาที่ได้รับไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ ทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียค่อนข้างมาก จะเห็นได้ชัดเจนจากการเกิดปัญหาในการรักษาโรคติดเชื้อ เนื่องจากเชื้อจะไม่ถูกยับยั้ง หรือทำลายด้วยยาปฏิชีวนะที่เดิมเคยใช้ได้ผล ส่งผลให้อาการไม่ทุเลาต้องรับยาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการดื้อยาปฏิชีวนะ อาจพบในแบคทีเรียกลุ่มจุลชีพประจำถิ่น (normal flora) ซึ่งปกติอาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์โดยไม่ก่อให้เกิดโรค แต่จะทำหน้าที่ในการป้องกันร่างกาย จากการติดเชื้อของแบคทีเรียก่อโรค การดื้อต่อยาอาจไม่เห็นผลโดยตรงต่อมนุษย์ แต่จุลชีพประจำถิ่นเหล่านี้ จะเป็นแหล่งสะสมของสารพันธุกรรม (gene) ที่ควบคุมการดื้อยา และพร้อมที่จะถ่ายทอดให้แก่เชื้อแบคทีเรียก่อโรคดื้อยาได้ตลอดเวลา
ผู้อำนวยการ กล่าวต่อไปว่า ความล้มเหลวของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะนั้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ เลือกยาผิดชนิด คือยาไม่มีฤทธิ์ที่ครอบคลุมเชื้อที่ก่อโรค ใช้ยาผิดขนาด คือขนาด หรือปริมาณยาที่ได้รับไม่เหมาะสมที่จะทำลายเชื้อก่อโรคได้ กินไม่ถูกวิธี โดยยาบางชนิดต้องกินก่อนอาหาร ในขณะที่บางชนิดต้องกินหลังอาหาร ยาบางชนิดห้ามกินร่วมกับนม เป็นต้น ทำให้ปริมาณยาปฏิชีวนะที่ได้รับจริง ไม่เพียงพอที่จะกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคกลายเป็นเชื้อที่ดื้อยา ก็เท่ากับว่าเชื้อสามารถทนทานต่อการทำลายมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า เชื้อมีความรุนแรงในการทำให้เกิดโรคลุกลามมากขึ้น รักษาหายยาก และเมื่อเกิดการดื้อของเชื้อต่อยาชนิดหนึ่ง มักจะมีการดื้อต่อยาหลายๆ กลุ่มตามมา ทำให้มียาที่จะให้เลือกใช้น้อยมาก หรืออาจไม่มียาใดรักษาได้ในที่สุด
ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง ได้แก่ ใช้ยาเฉพาะกรณีมีการติดเชื้อแบคทีเรียจริง ใช้ยาในขนาดระยะเวลาอย่างเคร่งครัด และวิธีการที่ถูกต้อง ภายใต้การคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร ใช้เมื่อจำเป็น ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะเก็บไว้ใช้เองคราวละมากๆ เนื่องจากการติดเชื้อแต่ละประเภทนั้น จะต้องใช้ยาให้เหมาะกับเชื้อที่เป็นสาเหตุ ซึ่งในแต่ละครั้งอาจต่างกันไป จึงควรไปพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง กรณีเกิดอาการที่สงสัยว่าเป็นการแพ้ยาให้รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรง ควรหยุดใช้ยาทันที แล้วรีบนำยาที่ใช้ขณะนั้นทั้งหมด ไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกร เมื่อทราบว่าแพ้ยาใดแล้ว จะต้องจดจำไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงยาดังกล่าวในการรักษาโรคครั้งต่อๆ ไป
ปัญหาอีกเรื่องที่สำคัญและไม่ควรปฏิบัติ คือ การแบ่งยาปฏิชีวนะของตนเองให้กับผู้อื่นที่เป็นโรคติดเชื้อ เนื่องจากโรคของผู้อื่นอาจไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้อตัวเดียวกับที่ตนเองเป็น ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะที่สงสัยว่าเสื่อมหรือหมดอายุแล้ว สังเกตได้จากวันหมดอายุซึ่งพิมพ์อยู่บนแผง กล่อง หรือขวดยา หรือลักษณะโดยทั่วไปของยา เช่น เม็ดยาชื้นแฉะ มีสีซีดจาง หรือแตกร้าว เป็นต้น ถ้าเป็นยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้ง ที่ต้องละลายน้ำก่อนใช้ ควรเก็บยาที่ละลายแล้วไว้ในตู้เย็น และใช้ให้หมดภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เกิน 7-10 วัน ยาปฏิชีวนะบางอย่างมีข้อควรระวังพิเศษในการใช้ เช่น ทำให้คลื่นไส้อาเจียน มีผลพิษต่อตับหรือไต มีปฏิกิริยาต่อกันกับยาอื่น มีปฏิกิริยากับอาหารบางประเภท เป็นต้น กรณีเช่นนี้เภสัชกรจะให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี |
แหล่งข่าวโดย » องค์การเภสัชกรรม |
แสดงความคิดเห็น